ปลัด มท. ประชุม ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นทั่วประเทศ มอบแนวทางปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “ด้วยระบบ ThaiQM” ตั้งเป้าสำรวจเพิ่มเติมเขตเทศบาล 6 ล้านครัวเรือน และ ReX-ray 14.5 ล้านครัวเรือน
ปลัด มท. ประชุม ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นทั่วประเทศ มอบแนวทางปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัญญาของเศรษฐกิจพอเพียง “ด้วยระบบ ThaiQM” ตั้งเป้าสำรวจเพิ่มเติมในเขตเทศบาล 6 ล้านครัวเรือน พร้อม Re X-ray 14.5 ล้านครัวเรือนเดิม ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ม.ค. 67
วันนี้ (21 พ.ย. 66) เวลา 13.30 น. ที่ห้องราชสีห์ ชั้น 2 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบแนวทางปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยระบบ ThaiQMกระทรวงมหาดไทย ปี 2567 ครั้งที่ 1/266 โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด นายอำเภอ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ร่วมประชุมฯ ผ่านระบบประชุมวีดีทัศน์ทางไกล
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยระบบ ThaiQM นั้น ในปีที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย ได้รับความร่วมมือที่ดีอย่างยิ่งจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ที่ได้ช่วยกันนำภาคีเครือข่ายไปเคาะประตูบ้านพี่น้องประชาชน โดยสามารถเก็บข้อมูลจากครัวเรือนได้มากถึง 14,562,655 ล้านครัวเรือน ซึ่งพบครัวเรือนที่มีปัญหา 3,810,466 ครัวเรือน โดยได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว 3,614,409 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยล่ะ 94.85 ทั้งนี้จะมีครัวเรือนที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา 196,057 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 5.15 ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญยิ่งที่เราจะต้องคิดหาแนวทางแก้ไขให้ได้ เพื่อให้ปัญหาหมดสิ้นไป โดยการสำรวจปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในปีที่ผ่านมานั้น เราพบว่าสิ่งหนึ่งที่เราอาจตกหล่นไปนั่นคือ อีกประมาณ 6 ล้านกว่าครัวเรือน ที่อยู่ในเขตของเทศบาลเมืองและเทศบาลนครไม่ได้ถูกทำการสำรวจ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยยึดหลักว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (No one left behind)” จึงจำเป็นต้องสำรวจครัวเรือนในเขตเทศบาลทุกแห่ง เพื่อที่จะได้รู้ปัญหาอย่างครบถ้วน โดยเรามีความคิดในเบื้องต้นว่า ถึงแม้จะเป็นสังคมเมืองก็จริง แต่ปัญหาก็อาจจะมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ ลูกหลานไม่ได้รับการศึกษา หรือแม้กระทั่งปัญหาการมีส้วมแต่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะกระทบต่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน จะต้องได้รับการแก้ไข
“แนวทางปฏิบัติที่สำคัญต่อมา คือ การ Re X-ray ครัวเรือน ที่เคยได้รับการสำรวจ และครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนใหม่หรือครัวเรือนที่ตกหล่นไป ซึ่งครัวเรือนเหล่านี้เราจะพบจากสื่อ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ซึ่งเมื่อเราได้ให้ความช่วยเหลือไปแล้วพบว่า ครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนใหม่หรือบางครัวเรือนเป็นครัวเรือนที่ตกหล่นไปจากการสำรวจ ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญอย่างยิ่งที่ต้อง Re X-ray อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้การสำรวจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ขอให้ท่านนายอำเภอ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษา คณะกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ทั้งจังหวัด อำเภอ และตำบล เผื่อในกรณีที่มีการโยกย้ายหรือต้องการสับเปลี่ยนบุคคล เพื่อให้การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่วนนี้เป็นหน้าที่ของท่านผู้ว่าฯ ท่านนายอำเภอ ที่จะต้องร่วมประชุมพูดคุย ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการที่จะวิเคราะห์และหารือร่วมกับ 7 ภาคีเครือข่าย ในลักษณะของการแก้ไขปัญหาในรูปแบบชี้เป้าหรือพุ่งเป้า ต้องทำให้ตรงกับสมุฏฐานหรือสาเหตุแห่งโรค โดยใช้มิติทั้ง “ยาฝรั่ง” และ “ยาไทย” โดย ยาฝรั่ง คือ การแก้ไขปัญหาและบรรเทาทุกข์ในเบื้องต้น ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการแก้ไขกันไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนในมิติของยาไทยนั่นคือการสร้างความยั่งยืนโดยใช้พลังของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ใช้กลไกทีมจังหวัด ทีมอำเภอ บูรณาการทีมที่เป็นทางการ คือ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ และทีมจิตอาสาภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ประชุมหารือวางแผนหาแนวทางร่วมกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการสำรวจครัวเรือนในครั้งใหม่นี้ จะมีแบบฟอร์มการสอบถามใหม่ในระบบ ThaiQM เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะมีคำถามที่เพิ่มเติมขึ้นมาเล็กน้อย อาทิ เรื่องเด็กกำพร้าในครัวเรือน หรือคำถามการมีผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเราพบว่าในหลายภูมิภาคมีปัญหาผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมากขึ้น เราจึงใช้โอกาสนี้ในการสำรวจเพิ่มเติมด้วย อีกส่วนหนึ่งที่เป็นนโยบายสำคัญของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ในเรื่องของน้ำดื่ม ก็จะมีคำถามเพิ่มเติม อาทิ การมีน้ำดื่มสำหรับการบริโภคในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์เพียงพอหรือไม่
“สำหรับการสำรวจในเขตเทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ซึ่งจากปัญหาที่เราได้ตั้งสมมติฐานไว้เบื้องต้น คือบางครั้งในพื้นที่สังคมเมือง ที่เป็นนิติบุคคล ที่เป็นคอนโด และหมู่บ้านจัดสรร ทำให้การสำรวจเป็นไปด้วยความยากลำบาก เราก็อำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้เก็บแบบสำรวจว่า ตัวผู้ให้ข้อมูลไม่สะดวกให้ข้อมูลหรือว่าไม่สามารถเก็บข้อมูลในพื้นที่ดังกล่าวได้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในการสำรวจข้อมูล และรายงานข้อมูลได้ครบถ้วน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ในขณะนี้ได้ตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อให้ทันต่อการประชาคมแผนในระดับชุมชน/หมู่บ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่ได้จากการ Re X-ray ในครั้งนี้เข้าสู่เวทีประชาคมแผนในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้ถูกบรรจุไว้ในแผน เพราะอาจมีปัญหาในบางข้อ บางประการ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับพื้นที่ ได้มีการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาอำเภอและจังหวัดนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไป
“เพื่อให้การบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ตามความตั้งใจของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ในการทำให้พี่น้องประชาชนมีความอุดมสมบูรณ์พูนสุข ก็อยากจะขอให้พวกเราชาวมหาดไทยเป็นผู้นำในการเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะเป็นคณะทำงาน เป็นคณะกรรมการ ที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจนในปีนี้ให้สำเร็จ ช่วยกัน Change for Good สร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย เป็นการปฏิบัติบูชาในการที่จะร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่กำหนดไว้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งหมายความว่า เราจะมีเวลาอย่างเต็มที่ในการที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนของเราในปีมหามงคล ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้มีความยั่งยืนในทุกมิติ” นายสุทธิพงษ์กล่าวทิ้งท้าย
Retrieved from https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/75057